จากการสั่งสมความเชี่ยวชาญด้านอาหารและการบ้านการเรือนจากการเป็นโรงเรียนการเรือน ที่จัดตั้งขึ้นตั้งแต่เมื่อปี พ.ศ. 2477 เดิมคือ “โรงเรียนมัธยมวิสามัญการเรือน” ตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการที่ต้องการให้ผู้หญิงในขณะนั้นได้มีการศึกษาเรียนรู้เกี่ยวกับการบ้านการเรือนที่ดี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต จึงมีนโยบายด้านอาหารโดยได้ใช้แนวทางปฏิบัติตามกฎกระทรวง สุขลักษณะของสถานที่จําหน่ายอาหาร พ.ศ. 2561 เพื่อจะผลิตอาหารและจัดการการผลิตอาหารร่วมถึงการกำจัดเศษอาหารให้ปลอดภัยกับผู้บริโภคทั้งที่เป็นนักศึกษา บุคลากร และบุคคลภายนอกที่จะเข้ามารับบริการและติดต่อภายในมหาวิทยาลัยทั้งส่วนกลางและศูนย์การศึกษา รวมไปถึงให้ปลอดภัยกับสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน ซึ่งประกอบไปด้วยสถานที่จำหน่ายอาหาร จำนวน 13 แห่ง ได้มีการดำเนินงานสอดคล้องกับการปฏิบัติตามกฎหมายสุขาภิบาลอาหาร นอกจากนี้ยังได้มีการพิจารณาแหล่งที่มาของอาหารเพื่อใช้ประกอบอาหารได้ถูกหลักสุขาภิบาล ปี 2564 และปี 2565 ตามแนวทางที่กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุขได้กำหนดไว้
จากการได้จัดการเรียนการสอน การปฏิบัติงาน การบริการวิชาการด้านการอาหารมาเป็นระยะเวลาอันยาวนาน โดยการนำศักยภาพคณาจารย์ เจ้าหน้าที่ของมหาวิทยาลัยที่มีคุณวุฒิ มีความเชี่ยวชาญในเรื่องดังกล่าว จัดอบรมให้กับกรุงเทพฯ ทั้งหมด 50 เขตมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2559 มาแล้ว ต่อเนื่องมาจนถึงในปี 2562 เพราะเล็งเห็นความสำคัญดังกล่าว และมหาวิทยาลัยฯมีศักยภาพในการจัดอบรมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการ:หลักสูตรการสุขาภิบาลอาหาร อย่างครบถ้วนโดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ ผู้ประกอบการอาหาร และผู้สัมผัสอาหาร ซึ่งวุฒิบัตรจะมีผลรับรอง 3 ปี ผู้ที่ต้องขออนุญาตเป็นสถานที่จำหน่ายอาหารต้องผ่านหลักสูตรผู้ประกอบกิจการอาหารและใช้ประกอบการต่ออายุสถานประกอบการทุกๆ ปี ส่วนผู้สัมผัสอาหาร ก็ต้องอบรมเช่นเดียวกัน เพราะผู้สัมผัสอาหารเป็นบุคคลสำคัญที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายของเชื้อโรคต่างๆไปสู่ผู้บริโภคได้ ซึ่งถ้าผู้สัมผัสอาหารมีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการสุขาภิบาลอาหาร มีสุขวิทยาส่วนบุคคลที่ดีแล้ว จะส่งผลถึงประชาชนในการได้บริโภคอาหารที่ สะอาด ปลอดภัย จากสถานประกอบกิจการที่ได้มาตรฐาน
จากผลการดำเนินการดังกล่าว มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้รับการยอมรับและเชื่อมั่นจากสังคม จึงได้นำความรู้และประสบการณ์ดังกล่าวมาทำความร่วมมือกับกรมอนามัยในการพัฒนาศักยภาพ ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขเรื่อง หลักเกณฑ์ และวิธีการจัดการอบรมผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร พ.ศ.2561 โดยมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้ผ่านเกณฑ์พิจารณาให้เป็นหน่วยงานจัดอบรม ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหารตามประกาศกระทรวงสาธารณสุขและประกาศของกรมอนามัย 9 ข้อหลักสำคัญ อันได้แก่ 1) มีสถานะความเป็นหน่วยงาน หรือนิติบุคคล 2) มีการแต่งตั้งเจ้าหน้าที่บริหารจัดการอบรม มีคุณวุฒิไม่ต่ำกว่าปริญญาตรี อย่างน้อย 1 คน ที่ทำหน้าที่ประจำหน่วยงานจัดการอบรม 3) ต้องจัดการอบรมตามหลักสูตรที่กรมอนามัยกำหนด 4) วิทยากรของหน่วยงานจัดการอบรมหลักสูตรผู้ประกอบกิจการ 5) มีการวัดผลและประเมินผลตามประกาศกรมอนามัย 6) ต้องจัดทำเอกสารหรือคู่มือประกอบการจัดการอบรมตามหลักสูตรที่ประกาศกระทรวงสาธารณสุขกำหนด 7) ในกรณีเรียกเก็บค่าบริการจากผู้เข้ารับการอบรมต้องแสดงอัตราค่าบริการที่จะเรียกเก็บเพื่อประกอบการพิจารณาการขอขึ้นทะเบียนเป็นหน่วยงานจัดการอบรม 8) ต้องออกวุฒิบัตร หรือหนังสือรับรองที่มอบให้ผู้ผ่านการอบรมตามที่ประกาศกรมอนามัยกำหนด และ 9) กรมอนามัย สามารถดำเนินการติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผล หรือให้คำแนะนำว่าให้หน่วยงานจัดการอบรมปฏิบัติให้เป็นไปตามประกาศ กระทรวงสาธารณสุขและประกาศของกรมอนามัย เพื่อให้ผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร ซึ่งเป็นบุคคลสำคัญในการจัดหาวัตถุดิบ ปรุง ประกอบอาหาร และให้บริการอาหารที่สะอาดปลอดภัย ได้มีความรู้ ความเข้าใจในหลักการสุขาภิบาลอาหาร สุขวิทยาส่วนบุคคล กฎหมายที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการบริหารจัดการที่ดีในสถานที่จำหน่ายอาหาร สามารถนำความรู้ไปปฏิบัติได้อย่างถูกต้องและให้บริการอาหารที่สะอาดปลอดภัยสู่ผู้บริโภค โดยศูนย์อบรมมหาวิทยาลัยสวนดุสิต หน่วยงานจัดอบรมหลักสูตรสุขาภิบาลอาหาร จัดอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรผู้ประกอบกิจการและผู้สัมผัสอาหาร
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ยังได้นำความรู้ความเชี่ยวชาญดังกล่าวไปให้บริการวิชาการเพื่อส่งเสริมการบริการร้านอาหารที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม (Green Restaurant) ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในปี 2564 ต่อเนื่องมาจนถึงปี 2565 ซึ่งเป็นการส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืนและสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ด้านการเติบโตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน และแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ.2560-2564) ได้สนับสนุนและส่งเสริมการผลิต และการบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals; SDGs) ในการสร้างแบบแผนการผลิตและการบริโภค และวิถีชีวิตที่พอเพียง และยั่งยืน มีการพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อสร้างความตระหนักรู้ของผู้บริโภคนำไปสู่การบริโภค ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมคือ ดังนั้น เพื่อส่งเสริมศักยภาพของภาคการบริการภัตตาคารและร้านอาหาร ซึ่งมีการใช้ทรัพยากร พลังงานและเกิดของเสียจากการดำเนินธุรกิจ จึงพัฒนาเกณฑ์การบริการภัตตาคารที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green Restaurant) มีองค์ประกอบ 4 หมวด แต่ละหมวดประกอบด้วยองค์ประกอบย่อยและตัวชี้วัดการดำเนินงาน 16 องค์ประกอบย่อย รวม 46 ตัวชี้วัด และมีการประเมินพร้อมมอบตราสัญลักษณ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือตราสัญลักษณ์ตัว G จะมอบให้แก่สถานประกอบ การที่ผ่านเกณฑ์การประเมินการบริการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ประเภทภัตตาคารและร้านอาหาร โดยเป็นสื่อประชาสัมพันธ์ให้ผู้ใช้บริการทราบว่า การดำเนินงานของสถานประกอบการให้ความสำคัญ กับการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตราสัญลักษณ์ภัตตาคารที่เป็นมิตร กับสิ่งแวดล้อมจะแบ่งระดับเพื่อเป็นแนวทางการใช้ทรัพยากรและพลังงานอย่างคุ้มค่า มีประสิทธิภาพและมีการจัดการสิ่งแวดล้อมที่ดี ส่งเสริมการผลิตและการบริโภคอย่างมีความรับผิดชอบ ลดการทิ้งอาหารโดยไม่จำเป็น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการบริโภค และการปรับเปลี่ยนวิถีชีวิตไปสู่ การบริโภคที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมอย่างพอเพียงและยั่งยืน
ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :
https://www.facebook.com/112895380464150/posts/516439753443042/