มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมีพันธกิจในการให้บริการวิชาการแก่สังคม โดยนำศาสตร์ต่าง ๆ มาบูรณาการร่วมกัน ทั้งด้านอัตลักษณ์และความเชี่ยวชาญเฉพาะทางของมหาวิทยาลัย ให้บริการวิชาการ รวมทั้ง เผยแพร่ความรู้สู่ชุมชนและสาธารณชน ภายใต้นโยบาย “ทิศทางของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต: จิ๋ว แต่ แจ๋ว (ฉบับทบทวน) พ.ศ. 2566 – 2567” ทั้งนี้ มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้เข้าร่วมสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.-มสด.) ตั้งแต่ปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ถึงปัจจุบัน โดยได้กำหนดแผนแม่บท อพ.สธ. มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ระยะ 5 ปีที่เจ็ด
(1 ตุลาคม 2564 ถึง 30 กันยายน 2569) ภายใต้กรอบการดำเนินงาน 3 กรอบ คือ กรอบการเรียนรู้ทรัพยากร กรอบการใช้ประโยชน์ และกรอบการสร้างจิตสำนึก เพื่อพัฒนาทรัพยากรกายภาพ ชีวภาพ วัฒนธรรมและภูมิปัญญา เพื่อหาแนวทางและสนับสนุนให้ประชาชนเรียนรู้ทรัพยากรในท้องถิ่น นำไปสู่การอนุรักษ์ทรัพยากรท้องถิ่นและใช้ประโยชน์ทรัพยากรนั้นให้ยั่งยืน และเป็นการสร้างจิตสำนึกในการรักทรัพยากร ดังพระราชกระแสของสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี “การรักทรัพยากร คือการรักชาติ รักแผ่นดิน”
โครงการ “การพัฒนาแหล่งเรียนรู้สวนพฤกษศาสตร์พันธ์ุไม้ท้องถิ่นหายาก จังหวัดสุพรรณบุรี” เป็นโครงการที่มหาวิทยาลัยดำเนินการอย่างต่อเนื่อง มาตั้งแต่ปีงบประมาณ 2562 ในการพัฒนาแหล่งเรียนรู้สวนพฤกษศาสตร์พันธ์ุไม้ท้องถิ่นหายาก จังหวัดสุพรรณบุรี ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ให้เป็นแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชนและประชาชน อาจารย์ และนักศึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนองพระราชดำริในโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีอย่างมีประสิทธิภาพ ทำการรวบรวมพันธุ์พืชสมุนไพรพื้นเมืองประเภทไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม
ในจังหวัดสุพรรณบุรี ครอบคลุมพื้นที่ 10 อำเภอ ในจังหวัดสุพรรณบุรี พร้อมทั้งจัดทำป้ายชื่อพันธุ์ไม้ ดูแลรักษา และปรับภูมิทัศน์ให้เหมาะสม ปรับปรุงข้อมูลในฐานข้อมูลสารสนเทศภูมิศาสตร์และการใช้ประโยชน์เกี่ยวกับพันธุ์พืชสมุนไพรพื้นเมืองประเภทไม้ยืนต้นและไม้พุ่มในจังหวัดสุพรรณบุรีให้เป็นปัจจุบัน ให้ประชาชนที่สนใจได้เข้าถึงข้อมูลพันธุ์พืช ส่งเสริมให้ประชาชนที่สนใจเข้ามามีส่วนร่วมในการสนองพระราชดำริในโครงการ อพ.สธ. และสามารถนำทรัพยากรไปประยุกต์ใช้ในการศึกษาและนำไปใช้ประโยชน์ด้านการเกษตรให้เกิดประโยชน์อย่างยั่งยืน นอกจากนี้ ยังได้ทำทางเดินภายในแปลงปลูกเพื่อสะดวกต่อการเดินชมศึกษาพันธุ์ไม้ของผู้ที่สนใจเข้าศึกษาพันธุ์ไม้ในพื้นที่ จากการสำรวจและรวบรวมพันธุกรรมพืชในครั้งนี้ ได้มีการรวบรวมพืชสมุนไพรพื้นเมืองประเภทไม้ยืนต้นและไม้พุ่ม จำนวน 58 ชนิด และจัดภูมิทัศน์ในพื้นที่ดังกล่าวให้สวยงาม เพื่อเป็นเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับพันธุกรรมพืชอนุรักษ์ให้แก่ผู้ที่สนใจเกี่ยวกับลักษณะทางพฤกษศาสตร์ และสรรพคุณทางด้านสมุนไพรของพืชในจังหวัดสุพรรณบุรีและพื้นที่ใกล้เคียง และสามารถนำข้อมูลและการใช้ประโยชน์พันธุกรรมพืชพื้นเมืองในจังหวัดสุพรรณบุรีไปใช้ประโยชน์ได้ เป็นการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชให้เกิดความยั่งยืน
ภาพที่ 1 ตัวอย่างพันธุ์พืชท้องถิ่น จังหวัดสุพรรณบุรีในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์
ภาพที่ 2 การนำพันธุ์พืชสมุนไพรพื้นเมืองประเภทไม้ยืนต้นเข้ามาปลูกในพื้นที่อนุรักษ์ภายในสวนพฤกษศาสตร์และการติดตั้งป้ายแสดงแผนผังพันธุ์ไม้ยืนต้นในสวนพฤกษศาสตร์
ภาพที่ 3 การใช้พื้นที่สวนพฤกษศาสตร์เป็นแหล่งเรียนรู้พันธุกรรมพืชพื้นเมืองประเภทไม้ยืนต้น ไม้พุ่ม และไม้ล้มลุกในจังหวัดสุพรรณบุรี