การดำเนินงานด้านการจัดการขยะ โดยเฉพาะขยะพลาสติก และขยะรีไซเคิลประเภทอื่นๆ ของมหาวิทยาลัย ดำเนินงานอ้างอิงตามประกาศมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เรื่อง นโยบายการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พลังงานและทรัพยากรของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ข้อ 2 มุ่งสร้างจิตสำนึก ให้ความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักศึกษาและบุคลากร ดำเนินการตามหลักการ 3R คือ Reduce (ลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (แปรรูปมาใช้ใหม่) เพื่อลดปริมาณขยะและของเสีย และข้อ 4 ส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารการจัดการ ปรับปรุง ป้องกัน และควบคุมมลพิษโดยการจัดการขยะ น้ำเสีย อากาศ สารเคมี และมลพิษอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2560 และได้มีการดำเนินงานต่อเนื่องผ่านการดำเนินงานตามนโยบายการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พลังงานและทรัพยากรของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2565 โดยมีความเชื่อมโยงกับข้อ 3 มุ่งสร้างจิตสำนึก ให้ความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักศึกษา บุคลากร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดำเนินการตามหลักการ 3R คือ Reduce (ลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (แปรรูปมาใช้ใหม่) เพื่อลดปริมาณของเสียและของเสียอันตราย โดยเฉพาะการลดการใช้พลาสติกจากต้นทาง เป็นการลดภาระการกำจัดขั้นสุดท้าย และข้อ 6 ส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารการจัดการ ปรับปรุง ป้องกัน และควบคุมมลพิษโดยการจัดการของเสีย ของเสียอันตราย น้ำเสีย อากาศ สารเคมี และมลพิษอื่นๆ และให้ความสำคัญกับการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้มาตรฐานที่กำหนด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม
มหาวิทยาลัยสวนดุสิตได้พัฒนาระบบการจัดการขยะที่คำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสิ่งมีชีวิต ภายใต้แนวคิด Zero Waste มาตั้งแต่ปี 2559 โดยขับเคลื่อนผ่านคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) มีการพัฒนาระบบการจัดการขยะแบบบูรณาการที่ประยุกต์ใช้หลัก 3Rs (Reduce, Reuse, Recycle) พร้อมทั้งติดตั้งถังขยะแยกประเภทและจุดพักขยะรีไซเคิลครอบคลุมทุกพื้นที่ รวมถึงจัดระบบการคัดแยกขยะตามประเภทเพื่อการกำจัดที่เหมาะสมและมีระบบติดตามประเมินผลอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการจัดการขยะพลาสติก
ในช่วงเริ่มต้นของการจัดการขยะพลาสติก มหาวิทยาลัยได้ร่วมกับกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อมจัดตั้ง Plastic Drop Point และดำเนินโครงการ “เปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน)” ครอบคลุมทั้งมหาวิทยาลัย วิทยาเขต และศูนย์การศึกษา โดยปัจจุบันหน่วยงานต่างๆ ได้มีการคัดแยกขยะรีไซเคิล โดยเฉพาะขยะพลาสติกเป็นประจำ และต่อยอดพัฒนาการจัดเก็บสถิติ ส่งข้อมูลพร้อมหลักฐานการดำเนินกิจกรรมให้ทีมงานด้านสิ่งแวดล้อม ภายใต้การดำเนินงานของคณะกรรมการ คปอ. ดำเนินการจัดทำรายงานการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการคัดแยกขยะรีไซเคิล และยื่นขอการรับรองกิจกรรม LESS (Low Emission Support Scheme) กับทางองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก. โดยมหาวิทยาลัย มีการดำเนินงานด้าน LESS การจัดการของเสีย ในรูปแบบของการดำเนินงานร่วมกันในภาพรวมมหาวิทยาลัย อย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2562 ถึงปัจจุบัน ซึ่งในปี 2566 ยื่นขอการรับรอง LESS ด้านของเสีย (การคัดแยกขยะรีไซเคิล) รวม 34 กิจกรรม สามารถคัดแยกขยะรีไซเคิลได้ 8,344 กิโลกรัม และคิดเป็นการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 23.915 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า
นอกจากนี้ยังมีมาตรการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยการ กำหนดพื้นที่จัดเก็บขยะให้เหมาะสม มีระบบป้องกันการปนเปื้อนสู่ดินและแหล่งน้ำ พร้อมทั้งตรวจสอบและประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างสม่ำเสมอ มหาวิทยาลัยยังให้ความสำคัญกับการสร้างความตระหนักและการมีส่วนร่วม ผ่านการรณรงค์ประชาสัมพันธ์ การจัดอบรมให้ความรู้แก่บุคลากรและนักศึกษา และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการจัดการขยะอย่างยั่งยืน โดยมีการพัฒนาระบบอย่างต่อเนื่องผ่านการติดตามประเมินผล ปรับปรุงระบบ และวางแผนขยายผลพัฒนานวัตกรรมการจัดการขยะ แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการจัดการขยะอย่างมีความรับผิดชอบ เพื่อลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ สิ่งมีชีวิต และสุขภาพของมนุษย์