การดำเนินงานด้านการจัดการขยะของมหาวิทยาลัยไปยังหลุมฝังกลบ ดำเนินงานอ้างอิงตามประกาศมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เรื่อง นโยบายการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พลังงานและทรัพยากรของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ข้อ 4 ส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารการจัดการ ปรับปรุง ป้องกัน และควบคุมมลพิษโดยการจัดการขยะ น้ำเสีย อากาศ สารเคมี และมลพิษอื่นๆ อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้มาตรฐานที่กำหนด ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 17 สิงหาคม 2560 (ที่มา https://green.dusit.ac.th/policies/ ) และได้มีการดำเนินงานต่อเนื่องผ่านการดำเนินงานตามนโยบายการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พลังงานและทรัพยากรของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2565 (ที่มา https://sduzerowaste.dusit.ac.th/wp-content/uploads/2023/11/environmental-quality-management-policy-2565.pdf) โดยมีความเชื่อมโยงกับข้อ 3 มุ่งสร้างจิตสำนึก ให้ความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักศึกษา บุคลากร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดำเนินการตามหลักการ 3R คือ Reduce (ลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (แปรรูปมาใช้ใหม่) เพื่อลดปริมาณขยะของมหาวิทยาลัยไปยังหลุมฝังกลบ โดยเฉพาะการขยะจากต้นทาง เป็นการลดภาระการกำจัดขั้นสุดท้าย และข้อ 6 ส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารการจัดการ ปรับปรุง ป้องกัน และควบคุมมลพิษโดยการจัดการของเสีย ของเสียอันตราย น้ำเสีย อากาศ สารเคมี และมลพิษอื่นๆ และให้ความสำคัญกับการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้มาตรฐานที่กำหนด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม จากการดำเนินงานที่กล่าวมานำไปสู่การส่งเสริมความยั่งยืนของมหาวิทยาลัยตาม “ทิศทางมหาวิทยาลัยสวนดุสิต จิ๋วแต่แจ๋ว ฉบับทบทวน 2566-2567 (SDU Direction: Small But Smart Revised Version 2023-2024)” (ที่มา: https://www.dusit.ac.th/home/wp-content/uploads/2023/06/SDU_Directions66-67.pdf) โดยมี แนวปฏิบัติการจัดการของเสียและของเสียอันตราย เรื่อง การฝังกลบและการรีไซเคิล ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต กำหนดไว้อย่างชัดเจน (ที่มา https://sduzerowaste.dusit.ac.th/wp-content/uploads/2023/11/landfill-recycle.pdf )
การพัฒนาระบบการจัดการขยะของมหาวิทยาลัยภายใต้แนวคิดของเสียเหลือศูนย์ (Zero waste) นั้น เริ่มจากการจัดการขยะในภาพรวมของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต มีการดำเนินงานมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2560 โดยมุ่งเน้นการดำเนินงานอย่างบูรณาการร่วมกัน ซึ่งในปัจจุบันมีการขับเคลื่อนการดำเนินงานภายใต้ความร่วมมือของคณะกรรมการความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) โดยมีกรอบระยะเวลาการดำเนินงาน ตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2559-ปัจจุบัน ดังนี้
โดยได้การประเมินสถานการณ์การเกิดขยะ ปี พ.ศ. 2559-2560 ก่อนเริ่มพัฒนาระบบการจัดการขยะตามแนวคิด Zero waste มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเริ่มจากการสำรวจสถานการณ์การเกิดขยะมูลฝอยของมหาวิทยาลัย และศูนย์วิทยาศาสตร์ ถนนสิรินธร รวมถึงรูปแบบการดำเนินงานในขณะนั้น ซึ่งจากการศึกษาพบว่ารูปแบบการเกิดขยะขึ้นอยู่กับการดำเนินกิจกรรมในแต่ละพื้นที่ โดยขยะที่พบจากแต่ละแหล่งจะมีองค์ประกอบขยะที่แตกต่างกัน เช่น ขยะประเภทพลาสติกส่วนใหญ่พบจากการดำเนินกิจกรรมภายในอาคารเรียน ขยะประเภทกระดาษส่วนใหญ่พบจากการดำเนินกิจกรรมภายในอาคารสำนักงาน ในขณะที่ขยะเศษอาหารส่วนใหญ่พบจากสถานที่ประกอบอาหารและศูนย์อาหารเป็นหลัก ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวจำเป็นที่จะต้องดำเนินการจัดการในรูปแบบที่แตกต่างกันขึ้นกับบริบทของพื้นที่เป็นสำคัญ
การพัฒนาระบบสนับสนุนการลดการเกิดขยะ มีการใช้กระบวนการ 3Rs การลดการใช้ (Reduce) การนำกลับมาใช้ซ้ำ (Reuse) และการนำกลับมาใช้ใหม่ (Recycle) มาใช้ โดยเริ่มจากการพัฒนาระบบการจัดการขยะรีไซเคิล เช่น การติดตั้งถังขยะแบบแยกประเภท และการติดตั้งจุดพักขยะรีไซเคิลประเภทต่างๆ พร้อมทั้งดำเนินการประชาสัมพันธ์ และรณรงค์อย่างต่อเนื่อง โดยได้ดำเนินการนำร่องในพื้นที่ต้นแบบที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ ถนนสิรินธร ก่อนขยายผลไปยังพื้นที่ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย
การดำเนินงานได้พัฒนาต่อเนื่อง โดยแต่ละพื้นที่ได้มีระบบในการจัดเก็บสถิติการเกิดขยะแต่ละประเภท และมีการคัดแยกขยะอีกทอดหนึ่งโดยทีมแม่บ้าน ก่อนการรวบรวมขยะส่วนที่เหลือเพื่อทิ้งเป็นขยะทั่วไปยังหลุมฝังกลบ โดยมีจุดรวบรวมขยะอย่างเป็นระบบ อีกทั้งแม่บ้านที่ปฏิบัติหน้าที่ด้านการจัดการขยะยังได้รับการพัฒนาทักษะการดำเนินงานและการป้องกันตนเองในการปฏิบัติงาน ซึ่งในปี 2566 นั้น ตัวแทนได้เข้าร่วมอบรม เรื่อง มาตรฐานงานทำความสะอาด และบุคลิกภาพกับงานบริการ
ในภาพรวมของมหาวิทยาลัยนั้น ในแต่ละปียังได้มีการจัดกิจกรรม Big Cleaning Day เพื่อสวนดุสิตสวยสะอาด ซึ่งในปี 2566 มีการบรรยายในหัวข้อ “ความสะอาดและ Green Office” ต่อด้วยกิจกรรมทำความสะอาดของแต่ละส่วนงาน โดยบุคลากรกองอาคารและสถานที่ และแม่บ้านแคร์แอนด์คลีน
(https://www.dusit.ac.th/home/2023/1137945.html)
(https://www.dusit.ac.th/home/2023/1134241.html)
อีกทั้งในปี 2566 นายจักกพันธุ์ ผิวงาม รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร พร้อมด้วยคณะผู้บริหารฝ่ายสิ่งแวดล้อม สำนักงานเขตดุสิต ตรวจเยี่ยมการบริหารจัดการขยะของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในการนี้ ผู้แทน กทม. ฝากเชิญชวนอาจารย์ บุคลากร และนักศึกษาของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ร่วมคัดแยกขยะก่อนทิ้งเพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการลดปัญหาที่เกิดขึ้นจากขยะ และสามารถนำขยะที่สามารถนำกลับมาใช้ได้ไปใช้ประโยชน์ต่อไป
(https://www.dusit.ac.th/home/2023/1167165.html)
และ นอกจากนั้น ยังได้มีการสร้างระบบการจัดการขยะอิเล็กทรอนิกส์ ตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ให้ตระหนักถึงปัญหา สร้างการมีส่วนร่วมไปจนถึงการสร้างกระบวนการจัดเก็บและรีไซเคิลแบบ Zero e-waste to landfill โดยกำหนดให้มีจุดทิ้งที่ Cafe by HOME, One World Library และศูนย์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี อีกทั้งมีการสร้างความร่วมมือกับเครือข่ายภาครัฐและเอกชนเพื่อ โครงการ “คนไทยไร้ E-Waste” ของบริษัท AIS และ โครงการ “Green University ทิ้ง เทิร์น ให้โลกจำ” ที่สนับสนุนให้นักศึกษา และบุคลากรเข้าร่วมภารกิจเก็บขยะพลาสติกและทั้งขยะอิเล็กทรอนิกส์ ผ่านแอปพลิเคชัน E-Waste และขยะพลาสติกผ่าน GC YOU เทิร์น ลดปัญหาขยะพลาสติกอย่างครบวงจรสร้างคุณค่าจากพลาสติกใช้แล้ว และขยะ E-waste ของบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ GC และบริษัท AIS
(ที่มา https://mgronline.com/cyberbiz/detail/9660000066812)