ปัญหาสิ่งแวดล้อมนับเป็นปัญหาสำคัญที่ส่งผลโดยตรงต่อคุณภาพชีวิตของคนในชุมชนโดยรอบศูนย์การเรียนของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยเฉพาะปัญหาขยะเศษอาหาร เนื่องมาจากการประกอบปรุง ซึ่งเป็นการจัดการอาหารภายในมหาวิทยาลัย รวมไปถึงการจัดการขยะที่จะส่งผลให้เกิดการเน่าเสียและส่งกลิ่นเหม็นได้ ทำให้เกิดความรำคาญ ก่อให้เกิดทัศนอุจาด เป็นแหล่งเพาะพันธุ์ของแมลงและสัตว์นำโรค
มหาวิทยาลัยสวนดุสิต มีการพัฒนาการเรียนการสอนเพื่อให้สอดรับกับประเด็นยุทธศาสตร์ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 12 (พ.ศ. 2560 – 2564) คือ เน้นคนเป็นศูนย์กลางและยึดเป้าหมายอนาคตของประเทศเป็นหลัก มีความรู้สอดรับกับทักษะในศตวรรษที่ 21 และมียุทธศาสตร์ในการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การสร้างเศรษฐกิจและสังคมสีเขียว รวมถึงแนวนโยบายการบริหารงานเพื่อพัฒนาจุดเน้นฉบับใหม่ พุทธศักราช 2563-2567 เพื่อกำหนดทิศทางและแนวทางอันคมชัดในการดำเนินงาน ของมหาวิทยาลัยให้บรรลุผลสำเร็จตามเป้าหมายและวัตถุประสงค์ ที่มุ่งหวังที่สอดผสานกับแนวทางชีวิตวิถีใหม่ และมีจุดมุ่งเน้นเชิงกลยุทธ์ ในด้านสภาพแวดล้อม ด้าน Green & Clean University, Universal design มุ่งเน้นการจัดการคุณภาพด้านสิ่งแวดล้อม พัฒนาสู่การเป็นมหาวิทยาลัยที่สวยงาม สะอาด ปลอดภัย ส่งเสริมการลดการใช้ทรัพยากรและพลังงาน มีระบบการป้องกันผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดการขยะ การบำบัดน้ำเสีย การลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม รวมทั้งการออกแบบ พื้นที่ที่เหมาะสมสำหรับทุกคนในสังคมให้สามารถใช้ประโยชน์ ได้อย่างเต็มที่และเท่าเทียมกัน ซึ่งสอดคล้องกับการศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (Education for Sustainable Development: ESD) ขององค์การยูเนสโก โดยอาศัยการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมควบคู่ไปกับการพัฒนาสังคมและเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม, หลักสูตรสิ่งแวดล้อมเมืองและอุตสาหกรรม และหลักสูตรอนามัยสิ่งแวดล้อมและสาธารณภัย (หลักสูตรใหม่) จึงจัดการเรียนการสอนแบบ active learning โดยวิธีการกำหนดโจทย์ปัญหา (Problem- based learning) ตามแนวทางนโยบายการจัดการเรียนการสอนตามความหลากหลายทางการศึกษา ด้านสิ่งแวดล้อมที่นักศึกษาสนใจหรือพบในชีวิตประจำวันที่มีเนื้อหาเกี่ยวข้องกับบทเรียนและสอดคล้องกับอัตลักษณ์ความเป็นสวนดุสิต เพื่อให้นักศึกษานำความรู้ ความสามารถที่ได้เรียนมาแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น และมีการทดลองปฏิบัติจริง
โดยปรากฏผลสำเร็จจากการดำเนินการกิจกรรมของนักศึกษาหลักสูตรวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสิ่งแวดล้อม, หลักสูตรสิ่งแวดล้อมเมืองและอุตสาหกรรม และหลักสูตรอนามัยสิ่งแวดล้อมและสาธารณภัย (หลักสูตรใหม่) ภายใต้ชมรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ทำกิจกรรมนักศึกษาโดยผ่านการบูรณาการการจัดการเรียนการสอน จนสามารถได้รับรางวัล คือ รับโล่รางวัลระดับทอง จากอธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ซึ่งจัดงานมอบรางวัลผลการดำเนินกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ระดับประเทศ ประจำปี 2563 จากจำนวนมหาวิทยาลัยทั่วประเทศที่ได้รับรางวัลตามเกณฑ์มาตรฐานดังกล่าว 52 แห่ง โดยแบ่งเป็นระดับทอง 12 แห่ง ระดับเงิน 16 แห่ง และระดับทองแดง จำนวน 24 แห่ง ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ในวันที่ 28 มีนาคม 2565 ซึ่งนักศึกษาหลักสูตรดังกล่าว ได้รับโล่รางวัลระดับทอง เป็นปีที่ 2 จากการดำเนินการกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมหาวิทยาลัย (Green Youth) ประจำปี 2562 ซึ่งใช้โครงการ Green & Clean University 2019 (พื้นที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ ถนนสิรินธร) ได้จัดการขยะเศษอาหารภายในศูนย์วิทยาศาสตร์เป็น น้ำหมักชีวภาพที่มีคุณภาพสูง และการดำเนินการกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมของเยาวชนภายในมาหวิทยาลัย (Green Youth) ประจำปี 2563 โดยใช้โครงการ Green & Clean University 2020 (พื้นที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ ถนนสิรินธร) ได้จัดการขยะเศษอาหารซึ่งเกิดขึ้นภายในศูนย์วิทยาศาสตร์เป็นปุ๋ยหมักที่มีคุณภาพสูง ซึ่งถือเป็นความภาคภูมิใจและความสำเร็จของการจัดการเรียนการสอนทางด้านสิ่งแวดล้อม ที่จัดการเรียนการสอนแบบ Active Learning โดยการใช้ Problem Based Learning เป็นฐาน เน้นให้ผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง ได้ฝึกปฏิบัติจริง และมีทักษะทางด้านสิ่งแวดล้อม รวมถึงการสื่อสารทางด้านสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี จึงเป็นเยาวชนของประเทศที่มีคุณภาพและมีทักษะในศตวรรษที่ 21 สามารถสร้างทักษะและเพิ่มมูลค่าให้ตนเอง ชุมชน สังคมและประเทศ และสอดคล้องกับนโยบายและแผนกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัยซึ่งเป็นไปตาม พรบ.การอุดมศึกษา พ.ศ. 2562 มาตรา 13 และตัวชี้วัดความยั่งยืนของสถาบันอุดมศึกษา ชุมชนและสังคม (Green/Sustainability) คือ SDG 12 : การสรรหาแหล่งอาหารและสิ่งอุปโภคบริโภค และการจัดการขยะและการลดการใช้ทรัพยากร (Responsible Consumption and Production) ซึ่งสถาบันอุดมศึกษาพึงเป็นแบบอย่างให้แก่สังคมในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม การใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและมีประสิทธิภาพ
นอกจากนี้มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ยังได้จัดการเรียนการสอนในหมวดวิชาการศึกษาทั่วไปที่ให้นักศึกษาของมหาวิทยาลัยได้เรียนรู้ทุกคน คือ รายวิชาวิถีชีวิตตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (Lifestyle for Circular Economy) ถูกบูรณาการและพัฒนาขึ้นตามโครงร่างของเครือข่ายความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับอุดมศึกษา เพื่อให้นักศึกษาได้เรียนรู้และเข้าใจรูปแบบของการบริโภคและการผลิตที่ยั่งยืน โดยเฉพาะระบบและห่วงโซ่คุณค่าของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy Value Chain) ซึ่งจะสร้างความตระหนักและความตื่นรู้ในสถานการณ์สิ่งแวดล้อม สร้างความเข้าใจในการดำเนินชีวิตตามวิถีเศรษฐกิจหมุนเวียน อันจะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและวิถีชีวิตที่ช่วยลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสามารถส่งต่อการเรียนรู้สู่การปฏิบัติจริงในชีวิตประจำวัน รวมถึงให้แนวคิดในการต่อยอดพัฒนาสร้างงานในระบบธุรกิจหมุนเวียนได้ สร้างหัวใจอนุรักษ์ (Green mind) สู่พลเมืองสีเขียว (Green citizen) ที่สามารถร่วมมือร่วมใจช่วยกันอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อม เพื่อให้การอยู่ร่วมกันระหว่างมนุษย์และธรรมชาติดำเนินไปอย่างมีดุลยภาพและยั่งยืนต่อไป