กองทุน ววน.หนุนนักวิจัยม.สวนดุสิตดันสุพรรณบุรีสู่สมาร์ทซิตี้ด้วยนวัตกรรมระบบการท่องเที่ยวอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศพัฒนาชุมชนที่มีศักยภาพเป็นแหล่งท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำเชื่อมต่อกับกทม.และอยุธยา หวังพลิกฟื้นเศรษฐกิจหลังวิกฤต COVID-19 มุ่งเป้านักท่องเที่ยวกลุ่มอนุรักษ์ที่มีกำลังซื้อสูง
รศ. ดร.พรรณี สวนเพลง อาจารย์มหาวิทยาลัยสวนดุสิต หัวหน้าโครงการนวัตกรรมระบบการท่องเที่ยวอัจฉริยะส่งเสริมการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี ภายใต้ทุนวิจัยพื้นฐานจากกองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (ววน.) เปิดเผยว่า คณะวิจัยได้มุ่งพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวชุมชนสู่เมืองอัจฉริยะและรองรับสถานการณ์หลัง COVID-19 โดยประสานความร่วมมือกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (อพท.) และจังหวัดสุพรรณบุรี คัดเลือกชุมชนพร้อมเสนอขายแพกเกจท่องเที่ยวเพื่อเป็นต้นแบบการพัฒนาชุมชนสู่การยกระดับการบริหารจัดการด้านการท่องเที่ยวชุมชนคาร์บอนต่ำที่มีความพร้อมทั้งด้านคน รูปแบบและกิจกรรมการท่องเที่ยว ประมาณ 30 ชุมชน เพื่อให้บริษัทนำเที่ยวไปเสนอขายนักท่องเที่ยวต่างชาติกลุ่มอนุรักษ์ที่มีกำลังซื้อสูง โดยจัดทำเส้นทางการท่องเที่ยวเชื่อมโยงกับกรุงเทพฯ และพระนครศรีอยุธยา เพื่อส่งต่อการท่องเที่ยวรอบเมืองหลวงของประเทศไทย
โครงการวิจัยได้ดึงศักยภาพการท่องเที่ยวชุมชนเชิงอาหารและวิถีชีวิตมาเป็นจุดขายให้ชุมชนสามารถฟื้นตัวและปรับตัวในภาวะ COVID-19 ให้มีระบบจัดการที่ดี และเชื่อมต่อกับการท่องเที่ยวเชิงเกษตรซึ่งเป็นเศรษฐกิจหลักของจังหวัดสุพรรณบุรี โดยนำเสนอการท่องเที่ยวใหม่ ๆ เช่น นาแห้ว โรงเรือนอัจฉริยะของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านเกษตรอัจฉริยะ โดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศเข้ามาจัดการ ประกอบด้วย การท่องเที่ยวอัจฉริยะ มีแอปพลิเคชันแนะนำโปรแกรมท่องเที่ยวแก่นักท่องเที่ยวรายบุคคล และใช้ปัญญาประดิษฐ์มาช่วยเก็บข้อมูลเกี่ยวกับความสนใจของนักท่องเที่ยว เช่น รูปแบบการท่องเที่ยวที่สนใจ ไม่ว่าจะเป็นการท่องเที่ยวชุมชน เกษตร วัฒนธรรม วิถีธรรมชาติ งบประมาณ ระยะเวลา ที่พัก ฯลฯ นอกจากนี้ยังใช้เทคโนโลยีในการพัฒนาบุคลากรที่เป็นเด็กและเยาวชนในท้องถิ่นเพื่อเป็นมัคคุเทศก์ สอนหลักสูตรการทำวีดิทัศน์ที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับชุมชน และใช้เมตาเวิร์สแนะนำชุมชน รวมถึงสื่อดิจิทัลเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวและการตลาด การทำข้อมูลคาดการณ์แนวโน้มนักท่องเที่ยวล่วงหน้าเพื่อวางแผนร่วมกับชุมชนและจังหวัด การเก็บสถิติต่าง ๆ เช่น ความพึงพอใจ เพื่อนำไปปรับปรุงการท่องเที่ยวให้เป็นที่พึงประสงค์ของนักท่องเที่ยวมากขึ้น
“เราใช้ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) เพื่อดูแหล่งท่องเที่ยวในจังหวัดสุพรรณบุรี การจัดกิจกรรมต่าง ๆ และข้อมูลการท่องเที่ยวชุมชน เพื่อประเมินศักยภาพความพร้อมของชุมชน ตลอดจนขีดความสามารถในการรองรับนักท่องเที่ยวร่วมกับ อพท. จากนั้นจะเลือกชุมชนต้นแบบในแต่ละมิติเพื่อพัฒนาและสร้างแบรนด์ใหม่ของการท่องเที่ยวจังหวัดสุพรรณบุรี เพื่อสร้างฐานให้เป็นแบรนด์ของคนสุพรรณบุรีอย่างแท้จริง ตามนโยบายของผู้ว่าราชการจังหวัดที่ต้องการพัฒนาสุพรรณบุรีให้เป็นเมืองอัจฉริยะ (Smart City) และการท่องเที่ยวชุมชนเชิงเกษตร ซึ่งเป็นแหล่งเรียนรู้การปลูกข้าวและเกษตรอื่น ๆ รวมถึงวัฒนธรรมชุมชน เพื่อช่วยพลิกฟื้นการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจของสุพรรณบุรีกลับมาอีกครั้งหลังซบเซาจากพิษ COVID-19” รศ. ดร.พรรณี กล่าว
สำหรับกลุ่มท่องเที่ยวชุมชนตำบลบ้านแหลม อำเภอบางปลาม้า จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นชุมชนหนึ่งที่มีศักยภาพมากพอที่จะเป็นชุมชนต้นแบบ โดยเป็นชุมชนเก่าแก่อายุร้อยปีที่ได้รับรางวัลด้านการท่องเที่ยวและชุมชนต้นแบบมากมาย ทั้งยังเป็นเส้นทางประวัติศาสตร์ที่สำคัญในสมัยโบราณ เช่น เส้นทางทัพพม่าอังวะ-มอญรามัญ เส้นทางนิราศสุพรรณ และเส้นทางเสด็จประพาสต้น ซึ่งบันทึกเป็นหลักฐานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 มีเรือนไทยหลังคาแหลมใต้ถุนสูงขนานสองฝั่งน้ำ จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘ชุมชนบ้านแหลม’ การท่องเที่ยวดำเนินการโดยวิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยววิถีชุมชนตำบลบ้านแหลม ภายใต้แนวคิด “วิถีไทยกับสายน้ำ” ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับการท่องเที่ยวคาร์บอนต่ำบนวิถีสายน้ำสุพรรณบุรี โดยใช้เรือพลังงานแสงอาทิตย์เป็นแห่งแรกของการท่องเที่ยวชุมชนต้นแบบ เน้นการท่องเที่ยวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมพร้อมกับการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและทุนทางวัฒนธรรม ด้วยเสน่ห์ของเมืองศิลปินแห่งสุพรรณบุรีทั้งเพลงฉ่อย เพลงอีแซว เพลงเรือ เพลงเกี่ยวข้าว เพลงลูกทุ่ง ซึ่งนักท่องเที่ยวจะได้สำรวจการเรียนรู้วิถีโบราณการเกี่ยวข้าว การทำนา อาหารและขนมเจ้าบ้านเจ้าเรือนสำหรับทำบุญไหว้บรรพบุรุษ การล่องเรือดูเรือนไทยและวิถีชีวิตชุมชนที่มีความผูกพันกับสายน้ำดุจดั่งลมหายใจเดียวกัน