การลดของเสียของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ผ่านการจัดซื้อสีเขียว

การดำเนินงานด้านการลดของเสีย โดยเฉพาะขยะใช้แล้วทิ้งของมหาวิทยาลัย ในมิติที่ครอบคลุมตลอดห่วงโซ่อุปทานซึ่งครอบคลุมไปถึง suppliers ที่หน่วยงานต่างๆ ใช้บริการจัดซื้อสินค้าประเภทต่างๆ เช่น เครื่องมืออุปกรณ์ เครื่องเขียน อาคารสถานที่ และการเกษตร มหาวิทยาลัยมีการดำเนินงานอ้างอิงตามประกาศมหาวิทยาลัยสวนดุสิต เรื่อง นโยบายการจัดการคุณภาพสิ่งแวดล้อม พลังงานและทรัพยากรของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ซึ่งประกาศ ณ วันที่ 18 สิงหาคม 2565 โดยมีความเชื่อมโยงกับข้อ 3 มุ่งสร้างจิตสำนึก ให้ความรู้ ความเข้าใจ และส่งเสริมการมีส่วนร่วมของนักศึกษา บุคลากร และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ดำเนินการตามหลักการ 3R คือ Reduce (ลดการใช้หรือใช้น้อยเท่าที่จำเป็น) Reuse (การใช้ซ้ำ) และ Recycle (แปรรูปมาใช้ใหม่) เพื่อลดปริมาณของเสียและของเสียอันตราย โดยเฉพาะการลดการใช้พลาสติกจากต้นทาง เป็นการลดภาระการกำจัดขั้นสุดท้าย และข้อ 6 ส่งเสริมและเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารการจัดการ ปรับปรุง ป้องกัน และควบคุมมลพิษโดยการจัดการของเสีย ของเสียอันตราย น้ำเสีย อากาศ สารเคมี และมลพิษอื่นๆ และให้ความสำคัญกับการนำกลับมาใช้ใหม่อย่างมีประสิทธิภาพภายใต้มาตรฐานที่กำหนด เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม (ที่มา https://sduzerowaste.dusit.ac.th/wp-content/uploads/2023/11/environmental-quality-management-policy-2565.pdf) อีกทั้งยังเป็นการดำเนินงานตามแนวปฏิบัติการจัดการขยายการบริการภายนอก และห่วงโซ่ การลดของเสียที่ขยายสู่ผู้ขายของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต  (https://sduzerowaste.dusit.ac.th/wp-content/uploads/2023/11/supplier-system.pdf) ประกอบกับเป็นการดำเนินงานที่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติสำนักงานสีเขียว (Green Office) ที่หน่วยงานในหลายพื้นที่ได้นำไปประยุกต์ใช้ยังในหน่วยงานของตนเอง ในหมวดที่ 6 การจัดซื้อจัดจ้างสีเขียว โดยในประเด็นนี้จะเชื่อมโยงกับเรื่องการจัดซื้อสีเขียว คือ การเลือกซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม โดยเป็นสินค้าที่ได้รับการรับรองจากสถาบันที่เป็นที่ยอมรับ เช่น ฉลากเขียว ตะกร้าเขียว ฉลากประหยัดไฟเบอร์ 5 ฉลากประสิทธิภาพสูง ฉลากคาร์บอนฟุตปริ้นท์ ฉลากลดโลกร้อน สินค้า OTOP ที่มีเลขจดทะเบียน และฉลากสิ่งแวดล้อมของต่างประเทศ ซึ่งการจัดซื้อสินค้าในลักษณะดังกล่าวมีกรอบการดำเนินงาน (สำหรับหน่วยงานที่มีการประยุกต์ใช้ระบบสำนักงานสีเขียว) อาทิเช่น

(1) กำหนดผู้รับผิดชอบที่มีความรู้ความเข้าใจในระบบ การจัดทำแนวปฏิบัติในการค้นหารายการสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และจัดเก็บแหล่งข้อมูลในการสืบค้น
(2) การจัดทำบัญชีรายชื่อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมที่สอดคล้องกับสินค้าที่ใช้ในหน่วยงาน โดยระบุรายละเอียด เช่น รายการสินค้า ยี่ห้อ ฉลากสิ่งแวดล้อม วันหมดอายุ การรับรองของสินค้านั้น         
(3) การติดต่อประสานงานแจ้งไปยังผู้ขายเพื่อขอความร่วมมือในการสั่งซื้อสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

นอกจากนี้ในส่วนของการจัดซื้อวัตถุดิบในการประกอบอาหาร หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการคำนึงถึงคุณภาพของการเลือกซื้อวัตถุดิบจากผู้ขาย มีทั้งการกำหนดแนวทาง การทำลิสต์รายการผู้จำหน่ายเป็นต้น ซึ่งการดำเนินงานมีความใกล้เคียงกับมาตรฐานร้านอาหารสีเขียว ในประเด็นการเลือกซื้อวัตถุดิบ เพื่อลดการเกิดของเสียและใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด (https://www.dcce.go.th/news/project.aspx?p=1123)  
(https://www.dcce.go.th/news/project_file.aspx?p=2350) ดังตัวอย่างเช่น

(1) เลือกใช้วัตถุดิบในท้องถิ่น โดยพิจารณาจากการเลือกซื้อวัตถุดิบออร์แกนิค ผักผลไม้ตามฤดูกาล มีการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ใช้เอง เช่น
แนวทางที่ 1 มีการเลือกซื้อวัตถุดิบวัตถุดิบออร์แกนิค
แนวทางที่ 2 มีการเลือกซื้อผักผลไม้ตามฤดูกาล
แนวทางที่ 3 มีการปลูกพืชหรือเลี้ยงสัตว์ใช้เอง
แนวทางที่ 4 มีการเลือกใช้อาหารทะเลที่มีวิธีการจับที่ถูกต้องตามกฎหมาย
แนวทางที่ 5 มีการเลือกซื้อวัตถุดิบที่ไม่ใช้สารเคมีตั้งแต่ต้นจนจบ คือ ไม่ใช้เมล็ดพันธุ์ หรือ พันธุ์ที่มีการตัดต่อ หรือดัดแปลงทางพันธุกรรม ไม่มีการใช้สารเคมีในการเกษตร ทั้งทางตรงและทางอ้อม รวมถึงการใช้ยากำจัดศัตรูพืช ในรูปแบบต่างๆ ทั้งพืช แมลง และรา ไม่มีการใช้ปุ๋ยเคมีในกระบวนการผลิต
แนวทางที่ 6 มีการเลือกซื้อวัตถุดิบที่มีการจัดการหลังการเก็บเกี่ยว ไม่ใช้สารเคมีมาปนเปื้อนกับผลิตภัณฑ์ เช่น การใช้สารฟอร์มาลีนในสัตว์น้ำ การใช้สารเร่งเนื้อแดง การแช่ด้วยสารฟอกขาว เช่น ถั่วงอก ยอดมะพร้าวอ่อน ลูกตาล เป็นต้น
แนวทางที่ 7 มีการเลือกซื้อวัตถุดิบสัตว์น้ำ ที่ไม่มีวัตถุดิบจากสัตว์น้ำวัยอ่อนและไข่ เช่น ลูกปลาทู ปลาแก้ว หรือ กำลังวางไข่ เช่น ไข่ปลา ไข่ปูนอกกะดอง ไข่แมงดา ลูกกุ้ง ไม่ควรใช้ผลผลิตจากธรรมชาติที่ใกล้สูญพันธุ์ เช่น ปลากระเบนบางสายพันธุ์ ครีบฉลาม ปลาทูน่า หรือที่มีการทารุณกรรมสัตว์ เช่น ตับฟัวการ์ หรือไข่จากไก่เลี้ยงกรง Cage/Battery Chicken เป็นต้น

(2) เลือกซื้อวัตถุดิบจากผู้ผลิตที่ได้รับการรับรองมาตรฐานที่เชื่อถือได้ รายละเอียดแนวทางการพิจารณา
แนวทางที่ 1 เครื่องหมายรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร (เครื่องหมาย Q)
แนวทางที่ 2 เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน Organic Thailand’s Brand
แนวทางที่ 3 เครื่องหมายรับรองมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)
แนวทางที่ 4 ตราส่งเสริมผลิตภัณฑ์จากฐานทรัพยากรชีวภาพ (Bio Economy) 
แนวทางที่ 5 เครื่องหมายรับรองมาตรฐาน International Federation of Organic Agriculture Movements (IFOAM)
แนวทางที่ 6 การรับรองแบบมีส่วนร่วม (Participatory Guarantee Systems; PGS) และเครื่องหมายอื่นๆ โดยแสดงรายการฉลาก หรือการรับรองมาตรฐานที่เชื่อถือได้

ตัวอย่างข้อมูลของโครงการอาหารกลางวัน 1

ศูนย์วิทยาศาสตร์ ม.สวนดุสิต ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร
ในโอกาสศึกษาดูงานสำนักงานสีเขียว
Green Office ของศูนย์วิทยาศาสตร์

ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ได้แก่ คณะพยาบาลศาสตร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โรงเรียนการเรือน ศูนย์สิ่งแวดล้อม ศูนย์เครื่องมือปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ สำนักงานบริการอาคารวิทยาศาสตร์ ต้อนรับคณะศึกษาดูงานจากสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร ในโอกาสมาศึกษาดูงานสำนักงานสีเขียว Green Office ของศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต โดยมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ ประกอบด้วยภาพรวมเกี่ยวกับนโยบายของมหาวิทยาลัยฯ ในการขับเคลื่อนให้เป็น Green & Clean University ความสำคัญและวัตถุประสงค์โครงการสำนักงานสีเขียว ศูนย์วิทยาศาสตร์ การดำเนินงานหมวดที่ 1-6 และแนวปฏิบัติที่ดีของสำนักงาน อีกทั้งเยี่ยมชมการเตรียมความพร้อมต่อสภาวะฉุกเฉิน การจัดการพื้นที่สีเขียว และการจัดการขยะ ณ ศูนย์วิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วันพฤหัสบดีที่ 16 มีนาคม 2566