รายงานข้อมูลการจัดการขยะของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประจำปี 2566

รายงานข้อมูลการจัดการขยะของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ประจำปี 2566

การดำเนินงานด้านการจัดการขยะของแต่ละพื้นที่ทั้งมหาวิทยาลัย วิทยาเขต และศูนย์การศึกษา ใช้รูปแบบการดำเนินการอย่างบูรณาการร่วมกัน และมีการติดตามผลการดำเนินงานเป็นระยะผ่านการประชุมคณะกรรมการปลอดภัย อาชีวอนามัย และสภาพแวดล้อมในการทำงาน (คปอ.) ของมหาวิทยาลัยส่วนกลาง และกระจายผลการดำเนินงานไปยังวิทยาเขต และศูนย์การศึกษาอีกช่องทางหนึ่ง รูปแบบการจัดการขยะ ประกอบด้วย
1) การจัดวางถังขยะแบบแยกประเภทตามจุดให้บริการของแต่ละพื้นที่ โดยทั่วไปประกอบด้วยถังขยะทั่วไป ถังขยะรีไซเคิล ถังขยะเศษอาหาร และถังขยะอันตราย ซึ่งรูปแบบการวางถังขยะของแต่ละพื้นที่จะแตกต่างกันไปตามบริบท
2) ในแต่ละพื้นที่จะมีทีมแม่บ้านดูแลประจำจุด รวมถึงรูปแบบการบริหารจัดการ การจัดเก็บ การรวบรวม และความถี่ในการเก็บขยะของทีมแม่บ้านขึ้นกับบริบทของพื้นที่ อันประกอบด้วยจำนวนประชากร การดำเนินกิจกรรมของพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่จะมีคู่มือปฏิบัติงาน มีอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล และมีระบบติดตามตรวจสอบผลการดำเนินงานโดยผู้รับผิดชอบ ตลอดจนมีการประชุมทีมงานเป็นประจำ
3) ภาพรวมการดำเนินงานจัดเก็บขยะของแต่ละพื้นที่ เริ่มจากการเก็บขยะประจำจุด โดยแม่บ้านจะคัดแยกขยะรีไซเคิลออกจากประเภทอื่นๆ ในเบื้องต้น จากนั้น จะทำการรวบรวมขยะไปยังจุดพักขยะของพื้นที่ ซึ่งจะมีการแบ่งจุดเก็บรวบรวมขยะออกเป็นแต่ละโซน ประกอบด้วยขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล (ซึ่งแยกย่อยออกเป็นประเภทขวดพลาสติก กระดาษ/ลัง ขวดแก้ว โละหะ และอลูมิเนียม) ขยะเศษอาหาร และขยะอันตราย โดยในส่วนของขยะเศษอาหารขึ้นกับบริบทพื้นที่ ซึ่งบางแห่งอาจมีการรวบรวมไว้ยังสถานที่ประกอบอาหาร เมื่อขยะมาถึงจุดพักจะมีการจัดเก็บสถิติขยะแต่ละประเภท ตามแต่ระบบที่แต่ละแห่งจัดวางไว้ เช่น แฟ้มเอกสาร ระบบไลน์กลุ่ม หรือการใช้ระบบ QR code
4) บริเวณจุดพักขยะ บางพื้นที่อาจมีทีมแม่บ้านช่วยคัดแยกขยะรีไซเคิลออกจากขยะทั่วไปอีกครั้ง ก่อนการเก็บขนออกจากพื้นที่
5) การจัดการขยะแต่ละประเภท ประกอบด้วย (1) การจัดการขยะรีไซเคิลที่แต่ละพื้นที่รวบรวมไว้ขึ้นกับรูปแบบการจัดการ เช่น ส่งเข้าร่วมโครงการภายนอกเพื่อนำขยะไปแปรรูปใช้ประโยชน์ต่อไป และการขายขยะ
รีไซเคิล (2) การจัดการขยะเศษอาหารที่แต่ละพื้นที่รวบรวมไว้ จะมีการดำเนินงานที่แตกต่างกันไป เช่น นำไปเป็นอาหารสัตว์ นำไปผลิตน้ำหมักชีวภาพ ปุ๋ยอินทรีย์ หรือวัสดุปรับปรุงดิน (4) การจัดการขยะอันตราย ซึ่งจะแบ่งออกเป็นของเสียอันตราย และขยะอิเล็กทรอนิกส์ ถ้าเป็นในพื้นที่กรุงเทพมหานคร จะมีการส่งต่อของเสียอันตรายกับทางสำนักงานเขต (ความร่วมมือกับกรมควบคุมมลพิษ) ส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์เป็นการรวบรวมจากจุดรับของมหาวิทยาลัยไปส่งต่อที่ บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด (ความร่วมมือกับ บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน)) สำหรับพื้นที่ต่างจังหวัดจะยังไม่มีการบริการดังเช่นในกรุงเทพฯ จึงเป็นกำจัดโดยเทศบาลของแต่ละท้องที่
6) ขยะทั่วไป จะมีบริการรถขนขยะของเขต และเทศบาลเข้ามารับในพื้นที่ เพื่อส่งต่อไปกำจัดยังหลุมฝังกลบต่อไป โดยความถี่ในการเข้ามารับขยะแตกต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่

นอกจากนี้ในปี 2566 ได้มีการตรวจเยี่ยมพื้นที่ด้านการจัดการสภาพแวดล้อมของมหาวิทยาลัย ภายใต้แนวนโยบายการดำเนินงานพัฒนามหาวิทยาลัยที่สวยงาม สะอาด ปลอดภัย (Green & Clean University) ซึ่งในที่นี้ได้รวมเรื่องของการพัฒนาระบบการดำเนินงานด้านการจัดการขยะจัดเป็นอีกหนึ่งประเด็นในการลงพื้นที่ จากการนำเสนอข้อมูลของหน่วยงานในที่ประชุมเบื้องต้น และการสำรวจพื้นที่ ตลอดจนสอบถามข้อมูลจากผู้ปฏิบัติงาน ระบุได้ว่าพื้นที่ต่างๆ ของมหาวิทยาลัย มีการดำเนินงานด้านการจัดการขยะค่อนข้างครอบคลุมการจัดการขยะประเภทต่างๆ อีกทั้งยังมีการประยุกต์ใช้ระบบการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าด้วยแนวคิด Circular Living แต่ทุกพื้นที่มีศักยภาพเพิ่มเติม สามารถยกระดับพัฒนาระบบการจัดการขยะให้เข้าใกล้ Zero waste ในอนาคตได้  

สรุปข้อมูลการเกิดขยะประเภทต่างๆ ของแต่ละพื้นที่ประจำปี 2566

จากข้อมูลปริมาณการเกิดขยะแต่ละประเภทจะพบว่าในปี 2566 ที่ผ่านมานับตั้งแต่ช่วงมกราคม – ธันวาคม 2566 มีปริมาณขยะเกิดขึ้นทุกพื้นที่รวม 161.7 ตัน/ปี โดยจัดเป็นขยะรีไซเคิล 24.7 ตัน/ปี (ร้อยละ 15.28) และขยะที่จะต้องส่งไปกำจัดโดยการฝังยังหลุมฝังกลบ (ขยะทั่วไป) 115.2 ตัน/ปี (ร้อยละ 71.24) โดยพื้นที่มหาวิทยาลัย กรุงเทพฯ จัดเป็นพื้นที่ที่มีอัตราส่วนของการเกิดขยะสูงสุด รองลงมาเป็นพื้นที่ศูนย์วิทยาศาสตร์ ถนนสิรินธร สำหรับศูนย์การศึกษาหัวหิน และนครนายก พบปริมาณการเกิดขยะในปริมาณที่ต่ำ ในการพัฒนาระบบการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าเพื่อส่งเสริมเรื่องการลดการเกิดขยะในแต่ละพื้นที่มีแนวทางดังนี้

พื้นที่วิทยาเขตสุพรรณบุรี

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการดำเนินงานด้านการจัดการขยะตามหลักการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ควรมีการจัดทำฐานข้อมูลการเกิดขยะจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของพื้นที่ การจัดการในปัจจุบัน การจัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะและองค์ประกอบขยะในแต่ละกิจกรรม เพื่อประเมินผลการดำเนินงานปัจจุบัน และนำข้อมูลไปใช้ประกอบการวางแผนการดำเนินงาน ใช้ในการตั้งค่าเป้าหมายการลดการเกิดขยะ และการวัดผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานแต่ละปีต่อไป

พื้นที่ศูนย์การศึกษาลำปาง

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการดำเนินงานด้านการจัดการขยะตามหลักการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ควรมีการนำฐานข้อมูลการเกิดขยะประเภทต่างๆในพื้นที่ที่ได้จัดเก็บไว้มาประเมินผลในการลดการเกิดขยะแต่ละประเภท การลดการนำขยะไปทิ้งยังหลุมฝังกลบ เพื่อตั้งค่าเป้าหมายการลดการเกิดขยะ และการวัดผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานแต่ละปีต่อไป อย่างไรก็ตาม พื้นที่มีการใช้ประโยชน์อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งการดำเนินกิจกรรมของบุคลากรผู้ปฏิบัติงาน นักศึกษา นักเรียน ผู้ปกครองโรงเรียนสาธิตละอออุทิศ หน่วยงานภายนอก และบุคคลทั่วไปที่เข้ามาใช้พื้นที่ จึงส่งผลต่อการเกิดขยะในปริมาณมาก โดยเฉพาะขยะประเภทพลาสติกใช้ครั้งเดียวทิ้ง ซึ่งควรที่จะมีการวางแผนร่วมกันเพื่อจัดทำแนวทางในการบริหารจัดการ

พื้นที่ศูนย์การศึกษานครนายก

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการดำเนินงานด้านการจัดการขยะตามหลักการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ควรมีการดำเนินงานเพิ่มเติมดังนี้
1) ควรมีการนำฐานข้อมูลการเกิดขยะประเภทต่างๆในพื้นที่ที่ได้จัดเก็บไว้มาประเมินผลในการลดการเกิดขยะแต่ละประเภท การลดการนำขยะไปทิ้งยังหลุมฝังกลบ เพื่อตั้งค่าเป้าหมายการลดการเกิดขยะ และการวัดผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานแต่ละปีต่อไป
2) ควรมีการจัดทำแนวทางในการลดใช้หรือจัดการขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้งเพิ่มเติม
3) พิจารณาการเข้าร่วมกิจกรรมที่สนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกด้านการจัดการของเสีย ผ่านการทำกิจกรรมคัดแยกขยะรีไซเคิลประเภทพลาสติก แก้ว กระดาษ อลูมิเนียม โลหะ และโลหะผสม ซึ่งเป็นกิจกรรมที่มหาวิทยาลัยจัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ผ่านการยื่นขอการรับรองโครงการ LESS (Low Emission Support Scheme) กับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) (อบก.)

พื้นที่ศูนย์การศึกษาหัวหิน

สืบเนื่องจากการที่ศูนย์การศึกษาหัวหิน อยู่ในระยะเริ่มต้นของการพัฒนาการจัดการขยะตามระบบการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าด้วยแนวคิด Circular Living จึงมีข้อเสนอแนะเพื่อช่วยเสริมประสิทธิภาพการดำเนินงาน ดังนี้
          1) การจัดทำฐานข้อมูลการเกิดขยะจากการดำเนินกิจกรรมต่างๆ ของพื้นที่ การจัดการในปัจจุบัน การจัดเก็บข้อมูลปริมาณขยะและองค์ประกอบขยะในแต่ละกิจกรรม
          2) จัดทำแผนแม่บท และแผนงานในการดำเนินงานพัฒนาระบบการจัดการขยะของพื้นที่
          3) พัฒนาระบบสนับสนุนการจัดการขยะของพื้นที่ เช่น จุดพักขยะ จุดทิ้งขยะแบบแยกประเภท เครื่องมือสนับสนุนการจัดการขยะตามแนวคิด circular living เช่น แอปพลิเคชั่น ECOLIFE โครงการเปลี่ยนพลาสติกเป็นบุญ (เมื่อคุณหมุนเวียน) by SDU เป็นต้น
          4) การพัฒนาระบบส่งเสริมการมีส่วนร่วมในการจัดการขยะของนักศึกษาและบุคลากร เช่น การเผยแพร่สื่อประชาสัมพันธ์ด้านการจัดการขยะ การรณรงค์ และการจัดกิจกรรม โดยอาจเข้าร่วมกิจกรรมกับทางส่วนกลางที่มีการดำเนินงานอย่างต่อเนื่องง
          5) การพัฒนาระบบติดตาม ตรวจสอบการดำเนินงาน เพื่อวิเคราะห์ผลการดำเนินงานตามแผนที่วางไว้อย่างต่อเนื่อง

พื้นที่ศูนย์การศึกษาตรัง

เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบการดำเนินงานด้านการจัดการขยะตามหลักการใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่า ควรมีการดำเนินงานเพิ่มเติมดังนี้
1) ควรมีการนำฐานข้อมูลการเกิดขยะประเภทต่างๆในพื้นที่ที่ได้จัดเก็บไว้มาประเมินผลในการลดการเกิดขยะแต่ละประเภท การลดการนำขยะไปทิ้งยังหลุมฝังกลบ เพื่อตั้งค่าเป้าหมายการลดการเกิดขยะ และการวัดผลสัมฤทธิ์ในการดำเนินงานแต่ละปีต่อไป
2) ควรมีการจัดทำแนวทางในการลดใช้หรือจัดการขยะพลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง