โครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ

ความเป็นมาของพื้นที่

สืบเนื่องมาจากมหาวิทยาลัยสวนดุสิต ในฐานะมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในอัตลักษณ์ด้านอาหารและคำนึงถึงความสำคัญของการส่งเสริมการผลิตอาหารที่ปลอดภัยและดีต่อสุขภาพของผู้บริโภคในสังคมไทย จึงได้ดำเนินการส่งเสริมการทำเกษตรปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต ตั้งแต่การปลูก การแปรรูป ไปจนกระทั่งถึงการตลาด (From farm to table) เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในชุมชนตามแนวทาง BCG Economy (Bio-Circular-Green Economy) โดยพื้นที่ในการดำเนินงานตั้งอยู่ ณ มหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี ซึ่งอยู่ในท้องที่ ตำบลโคกโคเฒ่า อำเภอเมือง จังหวัดสุพรรณบุรี บนเนื้อที่อันเป็นกรรมสิทธิ์ของมหาวิทยาลัยทั้งหมดจำนวนประมาณ 200 ไร่ ประกอบด้วย ที่ดินสาธารณประโยชน์ที่ทางจังหวัดสุพรรณบุรีมอบให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเพื่อใช้ทำประโยชน์ในการจัดการศึกษา เมื่อปี พ.ศ. 2538 จำนวนประมาณ 175 ไร่ และที่ดินที่ทางมหาวิทยาลัยดำเนินการซื้อเพิ่มเติม จำนวนประมาณ 25 ไร่ ทั้งนี้ในปี พ.ศ. 2560 ได้จัดสรรพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิทยาเขตสุพรรณบุรี จำนวนประมาณ 50 ไร่ ที่อยู่ในส่วนของที่ดินสาธารณประโยชน์ในการดำเนินงาน “โครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ”

โครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ เป็นหนึ่งในกิจกรรมย่อยของ “โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในเขตพื้นที่ภาคกลางตามแนวทาง BCG Economy” ซึ่งเป็นรูปแบบหนึ่งของการดำเนินงานพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่ของมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่มีลักษณะเป็นการบูรณาการพันธกิจและอัตลักษณ์ของมหาวิทยาลัยเข้าไว้ด้วยกัน ก่อตั้งขึ้นโดยความร่วมมือของสถาบันวิจัยและพัฒนากับภาคีเครือข่ายความร่วมมือต่าง ๆ ทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยมีเป้าหมายเพื่อ “ยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างผลตอบแทนที่เป็นธรรมให้แก่ประชาชนในชุมชนพื้นที่” โดยใช้งานวิจัยและนวัตกรรมเป็นฐานในการยกระดับห่วงโซ่การผลิตสินค้าทางการเกษตรตั้งแต่ต้นน้ำไปจนกระทั่งปลายน้ำ ได้แก่ การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร การแปรรูปอาหาร/เครื่องดื่ม/เครื่องสำอาง/วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตรเพื่อเพิ่มมูลค่า การสร้างช่องทางการตลาดเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันทั้งในและต่างประเทศ การส่งเสริม
การท่องเที่ยวเชิงเกษตรตามอัตลักษณ์ท้องถิ่นเพื่อสร้างรายได้สู่ชุมชน และการถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม เทคโนโลยีด้านเกษตรปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต

ในการขับเคลื่อนการดำเนินงาน “โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในเขตพื้นที่ภาคกลางตามแนวทาง BCG Economy” กำหนดให้มีการใช้ชื่อแบรนด์ในการดำเนินงานว่า HOMKHAJORN “หอมขจร” ซึ่งมีที่มาจากชื่อของ ดอกขจร อันเป็นดอกไม้สัญลักษณ์ประจำมหาวิทยาลัยสวนดุสิตที่แสดงถึงชื่อเสียงและความดีงามในการทำคุณประโยชน์ของมหาวิทยาลัยต่อชุมชนสังคมที่ฟุ้งขจรขจายออกไป โดยกำหนดกรอบการดำเนินงานใน 5 มิติ คือ มิติที่ 1 การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรมส่งเสริมการผลิตทางการเกษตร มิติที่ 2 การแปรรูปผลผลิตและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร มิติที่ 3 การสร้างช่องทางการตลาดสินค้าเกษตรปลอดภัย มิติที่ 4 การถ่ายทอดองค์ความรู้ นวัตกรรม และเทคโนโลยีด้านเกษตรปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิต และ มิติที่ 5 การส่งเสริมการท่องเที่ยวและอนุรักษ์ทรัพยากรทางการเกษตรตามเอกลักษณ์พื้นถิ่น

จุดเริ่มต้นทำแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ

การดำเนินงานโครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ ภายใต้โครงการพัฒนาเมืองต้นแบบเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจฐานรากในเขตพื้นที่ภาคกลางตามแนวทาง BCG Economy ตั้งแต่ระยะเริ่มต้นจนถึงปัจจุบัน สามารถแบ่งออกเป็น 3 ระยะได้ดังนี้

ระยะที่ 1 ปี พ.ศ. 2560 – 2561 ดำเนินงานโครงการวิจัยและนวัตกรรมเชิงพื้นที่ในลักษณะ
ชุดโครงการ เรื่อง “การส่งเสริมการผลิตข้าวปลอดภัยในจังหวัดสุพรรณบุรี” ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จำนวน 21 โครงการ รวมทั้งการดำเนินการปรับพื้นที่ขนาด 5 ไร่ ในพื้นที่วิทยาเขตสุพรรณบุรี เพื่อจัดทำแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ ได้แก่ การยกคันดินขนาดกว้าง 3 เมตร สูง 1 เมตร สำรวจพื้นที่ เก็บตัวอย่างดินและน้ำเพื่อวิเคราะห์คุณภาพดิน ปลูกปอเทืองบนพื้นที่ 4.5 ไร่ เพื่อเป็นปุ๋ยพืชสดบำรุงดิน
ไถกลบปอเทือง และปลูกถั่วเขียวเพื่อบำรุงดิน เป็นต้น

ภาพที่ 1 การสำรวจพื้นที่โครงการแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ
ภาพที่ 2 การถมดินเพื่อปรับพื้นที่
ภาพที่ 3 การยกคันดิน ขุดคลองสร้างระบบระบายน้ำภายในแปลง
ภาพที่ 4 การปลูกถั่วเขียวบำรุงดิน

ระยะที่ 2 ปี พ.ศ. 2562 ดำเนินงานแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ โดยการวางระบบจัดการน้ำ การจัดเตรียมพื้นที่เพาะปลูก การปรับภูมิทัศน์ การปรับถนนทางเข้า-ออกให้สามารถใช้สัญจรได้สะดวก การติดตั้งระบบน้ำอัตโนมัติ การปลูกพืชชนิดต่าง ๆ ได้แก่ การปลูกพันธุ์ไม้พื้นเมืองหายากจำนวน 20 ชนิด ในพื้นที่สวนพฤกษศาสตร์ของโครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (อพ.สธ.) การปลูกพืชเศรษฐกิจต่าง ๆ เช่น ข้าวโพดหวาน มะพร้าว ว่านหางจระเข้ มะกรูด มะนาว กะเพรา โหระพา ขิง และข่า เป็นต้น ทั้งนี้ ในการดำเนินงานระยะที่ 2 นี้ ได้มีการสร้างความร่วมมือจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 9 หน่วยงาน เพื่อร่วมสนับสนุนการดำเนินงาน ได้แก่ จังหวัดสุพรรณบุรี โครงการอนุรักษ์พันธุกรรมพืชอันเนื่องมาจากพระราชดำริฯ (อพ.สธ.) สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) สำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน  มหาวิทยาลัยแม่โจ้ วิทยาลัยเกษตรและเทคโนโลยีสุพรรณบุรี และกรมราชทัณฑ์

ภาพที่ 5 การติดตั้งระบบให้น้ำอัจฉริยะภายในแปลง
ภาพที่ 6 การปลูกว่านหางจระเข้
ภาพที่ 7 การทดลองปลูกผักสวนครัว

ระยะที่ 3 ปี พ.ศ. 2563 ดำเนินงานแปลงสาธิตเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ โดยการถมดินปรับพื้นที่รวมถึงปรับภูมิทัศน์ต่าง ๆ เพิ่มเติมเพื่อรองรับสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ ในอนาคต เช่น โรงคัดแยกผลผลิตทางการเกษตร โรงปุ๋ยหมักชีวภาพ โรงเรือนสำหรับปลูกมะเขือเทศ และเมล่อน เป็นต้น และดำเนินการทำบันทึกความร่วมมือกับอย่างเป็นรูปธรรมกับจังหวัดสุพรรณบุรี และสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยมีวัตถุประสงค์ในการทำความร่วมมือเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตและสร้างผลตอบแทน
ที่เป็นธรรมตามแนวทางเกษตรปลอดภัยตลอดห่วงโซ่การผลิตให้แก่เกษตรกรในพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีและจังหวัดอื่น ๆ ในเขตพื้นที่ภาคกลาง รวมทั้งแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ยกระดับประสิทธิภาพและคุณภาพสินค้าทางการเกษตร ตลอดจนพัฒนาแหล่งการเรียนรู้ สาธิต และเทคโนโลยีด้านการเกษตรและอาหาร ทั้งนี้ ในการทำความร่วมมือในระยะดังกล่าวนี้ สวทช. ได้สนับสนุนโรงเรือนปลูกพืชจำนวน 3 โรงเรือน ได้แก่ โรงเรือนอัจฉริยะ โรงเรือนกึ่งอัจฉริยะ และโรงเรือนปกติ เพื่อเป็นต้นแบบในการสาธิตและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่ชุมชน โดยโรงเรือนอัจฉริยะเป็นโรงเรือนที่มีระบบควบคุมสภาพแวดล้อมต่าง ๆ ให้เหมาะสมต่อการเจริญของพืชผ่านระบบเซ็นเซอร์ เช่น ความชื้นในดิน อากาศ อุณหภูมิ และความเข้มแสง ที่สามารถควบคุมการทำงานผ่านระบบอินเตอร์เน็ตด้วยสมาร์ทโฟน แท็บเล็ต หรือคอมพิวเตอร์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและความแม่นยำในการเพาะปลูกพืชนอกจากนี้ยังได้ดำเนินการทำบันทึกความร่วมมือเพิ่มเติมกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสร้างความร่วมมือด้านงานวิจัย ด้านงานวิชาการ และงานบริการชุมชนในด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี นวัตกรรมการแปรรูปอาหาร/เครื่องดื่ม/เครื่องสำอาง และนวัตกรรมทางการเกษตร โดยในระยะแรกได้ดำเนินกิจกรรมการร่วมลงพื้นที่เพื่อวิเคราะห์สภาพดินและน้ำ การวางระบบบำบัดน้ำที่ไม่เหมาะสมต่อการทำเกษตร และการสนับสนุนพันธุ์พืชในการนำมาปลูกสาธิตทดลองภายในแปลง เช่น เสาวรส เบญจมาศ เป็นต้น

ภาพที่ 8 การปรับพื้นที่ทำถนนด้านหน้าหอมขจรฟาร์ม
ภาพที่ 9 การทำซุ้มไม้ไผ่และที่กันดินบริเวณซุ้มไม้ไผ่
ภาพที่ 10 การทำความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสวนดุสิตกับจังหวัดสุพรรณบุรี และมหาวิทยาลัยสวนดุสิตกับสํานักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)
ภาพที่ 11 โรงเรือนสำหรับการทดลองปลูกพืชมูลค่าสูง เทคโนโลยีจาก สวทช.
ภาพที่ 12  กิจกรรมความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสวนดุสิตกับสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.)

ระยะที่ 4 ปี พ.ศ. 2564 ดำเนินงานสร้างความเข้มแข็งให้มหาวิทยาลัยสวนดุสิตมุ่งไปสู่มหาวิทยาลัย
ที่มีความเป็นเลิศในกลุ่มพัฒนาชุมชนท้องถิ่น ประกอบไปด้วยกิจกรรม (1) โครงการเมืองต้นแบบเกษตรปลอดภัยอัจฉริยะ หรือ “หอมขจรฟาร์ม” มีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นต้นแบบและแหล่งเรียนรู้แก่ชุมชน จำแนกออกเป็น 4 กิจกรรมย่อย ได้แก่  (1.1) HOMKHAJORN GARDEN ดำเนินงานเพาะปลูกเมลอน 3 สายพันธุ์ ปลูกพืชเศรษฐกิจ พืชผักสวนครัว ตลอดจนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ “ดินหอมขจรฟาร์ม” (1.2) HOMKHAJORN COSMETIC ดำเนินงานพัฒนาผลิตภัณฑ์จากว่านหางจระเข้จำนวน 2 ชุด ได้แก่ ชุดต้านเชื้อแบคทีเรีย จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ และชุดบำรุงผิว จำนวน 3 ผลิตภัณฑ์ (1.3) HOMKHAJORN FOOD & BEVERAGE ดำเนินงานพัฒนาตำรับอาหารจากผลผลิตทางการเกษตร ได้แก่ พล่ากุ้งว่านหางจระเข้ เมี่ยงคำบอลลูน ว่านหางจระเข้ใบเตย บัวลอยเผือก และ Aloe Vera Honey Lemon การพัฒนาผลิตภัณฑ์เลมอนในน้ำผึ้ง และ (1.4) HOMKHAJORN SEED & SEEDLING ดำเนินงานการจัดทำผลิตภัณฑ์ชุดปลูกว่านแสงอาทิตย์ และการจัดทำผลิตภัณฑ์ชุดปลูกว่านสี่ทิศ เป็นต้น (2) การดำเนินงานเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ โดยสถาบันวิจัยและพัฒนาร่วมกับสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ดำเนินงานด้านการพัฒนาเชิงพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรีใน 5 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองสุพรรณบุรี อำเภออู่ทอง อำเภอสามชุก อำเภอสองพี่น้อง อำเภอบางปลาม้า โดยมีกลุ่มเกษตรกรและวิสาหกิจชุมชนเข้าร่วมโครงการจำนวน 11 กลุ่ม

ภาพที่ 13 การปลูกเมลอนในโรงเรือน ของ HOMKHAJORN GARDEN
ภาพที่ 14 การปลูกพืชผักสวนครัว ของ HOMKHAJORN GARDEN
ภาพที่ 15 ผลิตภัณฑ์เกษตรดินหอมขจรฟาร์ม ของ HOMKHAJORN GARDEN
ภาพที่ 16 ผลิตภัณฑ์ต้านเชื้อแบคทีเรีย ของ HOMKHAJORN COSMETIC
ภาพที่ 17 ผลิตภัณฑ์บำรุงผิว ของ HOMKHAJORN COSMETIC
ภาพที่ 18 การพัฒนาอาหารจากว่านหางจระเข้ของ HOMKHAJORN FOOD & BEVERAGE
ภาพที่ 19 การพัฒนาผลิตภัณฑ์ Lemon Infused Honey ของ HOMKHAJORN FOOD & BEVERAGE

ภาพที่ 20 ชุดปลูกว่านแสงอาทิตย์ และชุดปลูกว่านสี่ทิศของ ของ HOMKHAJORN SEED & SEEDLING

ภาพที่ 21 ตัวอย่างภาพผลิตภัณฑ์โครงการการพัฒนาเชิงพื้นที่ในจังหวัดสุพรรณบุรี
ภาพที่ 22 นวัตกรรมในการแปรรูปผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องดื่ม และเครื่องสำอาง จากผลผลิตเกษตรปลอดภัย
ภาพที่ 23 คู่มือการถ่ายทอดเทคโนโลยี
ภาพที่ 24 การดำเนินงานวิจัย “การเพิ่มศักยภาพพันธุ์ข้าวเศรษฐกิจต่อการทนแล้งโดยการปรับปรุงพันธุ์ร่วมกับพันธุ์ข้าวท้องถิ่นในพื้นที่ภาคกลาง”    
ภาพที่ 25 การจัดกิจกรรมโครงการละออพลัสณ หอมขจรฟาร์ม ในวันพฤหัสบดีที่ 8 ตุลาคม 2563
ภาพที่ 26 การใช้พื้นที่หอมขจรฟาร์มเป็นแหล่งเรียนรู้และถ่ายทอดเทคโนโลยี
ด้านการจัดการเกษตรแบบปลอดภัยให้แก่ชุมชน

ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ :

https://homkhajorn.dusit.ac.th

https://web.facebook.com/หอมขจรฟาร์ม-110875160636902

https://www.dusit.ac.th/2020/848257.html

https://www.homkhajorn-abd.com/Start

https://www.sentangsedtee.com/today-news/article_152133

https://siamrath.co.th/n/169156

https://www.dusit.ac.th/2020/816001.html

https://www.dusit.ac.th/2020/816001.html

https://www.dusit.ac.th/2020/838714.html

https://www.dusit.ac.th/2020/804317.html

https://www.nstda.or.th/home/news_post/20200227-2/

http://gotomanager.com/tags/หอมขจรฟาร์ม/