มหาวิทยาลัยสวนดุสิตกับการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศน้ำ

            มหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศน้ำร่วมกับชุมชนท้องถิ่น โดยเกิดการบูรณาการงานวิจัยและการบริการวิชาการสู่ชุมชนและท้องถิ่น ดังนี้คือ
            (1) แนวทางการจัดการทรัพยากรปูม้า โดยชุมชนประมงเรือเล็ก บนฐานภูมิปัญญาท้องถิ่น กรณีศึกษา อ่าวเพ จังหวัดระยอง ณ ศูนย์วิจัยและพัฒนาประมงอ่าวไทยตะวันออก จังหวัดระยอง  โดยพบว่า ปูม้าเป็นทรัพยากรสัตว์น้ำที่มีค่าและมีความสำคัญทางเศรษฐกิจไทย แต่ปัจจุบันปูม้าในธรรมชาติ มีปริมาณลดลงเป็นจำนวนมาก ผลจากการนำปูม้าไปใช้ประโยชน์มากขึ้น ทำให้ปูม้ามีขนาดเฉลี่ยเล็กลงเรื่อย ๆ สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการทำประมงปูในอนาคต ประกอบกับสภาพแวดล้อมทางธรรมชาติมีการเปลี่ยนแปลงไป ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งถูกทำลายจากการกระตุ้นการท่องเที่ยว  หรือเหตุการณ์น้ำมันดิบรั่ว อีกทั้งมีการใช้อวนตาถี่จับสัตว์น้ำและปูขนาดเล็กถูกจับจำหน่ายมากขึ้น  รวมถึงธุรกิจการทำประมงปูเพื่อการส่งออกและแปรรูปมีการเติบโตมากขึ้นทำให้ชาวประมงต้องออกเรือไปไกล แต่ได้ปูขนาดเล็กลงและมีรายได้ลดลง กลุ่มประมงเล็กเข้าร่วมด้วย ได้แก่ กลุ่มประมงเรือเล็กคอกแหลมเทียน กลุ่มประมงศาลาเขียวและกลุ่มประมงเรือเล็กสวนสน  พร้อมความร่วมมือจากกรมประมง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น คือ เทศบาลบ้านเพ ประมงจังหวัด ประมงอำเภอเมืองระยอง ทำให้เกิดรูปแบบการอนุรักษ์ปูม้า 3 รูปแบบคือ การสลัดไข่ปูในกระชังบริเวณชายฝั่ง การสลัดไข่ปูบนชายฝั่งและการสลัดไข่ปูตามธรรมชาติในกระชังลอยในทะเล ขณะเดียวกันยังส่งผลให้มีการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นในการอนุรักษ์ปูม้าและการจัดการธนาคารปูม้า เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้รูปแบบและกิจกรรมสลัดไข่ปูและการจัดการธนาคารปูม้า มีการติดตามและจัดการพื้นที่ไข่ การกำหนดพื้นที่ไข่แดงหรือพื้นที่ปลอดการทำประมง อีกทั้งเกิดเป็นเครือข่ายการอนุรักษ์ปูม้าระหว่างกลุ่มประมง เกิดการเป็นหุ้นส่วนและพันธมิตรการอนุรักษ์ปูม้าแบบประชารัฐขึ้น หลังจากนั้นได้สรุปรวมองค์ความรู้ทั้งหมดทำเป็นคู่มือสำหรับเผยแพร่ เพื่อขยายผลนำโมเดลการวิจัยเชิงพื้นที่นี้ให้กลุ่มประมงในพื้นที่อื่นของจังหวัดระยองนำไปใช้ หรือแม้แต่การนำไปใช้ในพื้นที่อื่น ๆ หรือนำไปปรับใช้สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ได้ ทำให้เกิดการรวมกลุ่มชาวประมงอย่างเหนียวแน่นเพิ่มขึ้น  ส่งเสริมให้เกิดเครือข่ายประชารัฐมากขึ้นและมีการร่วมมือจากภาครัฐมากขึ้น  เช่น การกั้นแนวเขตปลอดการประมง เพื่อเติมเต็มส่วนที่ทางกลุ่มประมงเรือเล็กทำ โดยทำให้มีเขตแนวที่ชัดเจนเพิ่มขึ้นและแก้ปัญหาการลักลอบจับปูโดยคนนอก  ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยเพิ่มอัตรารอดชีวิตให้กับปูม้า หัวหน้ากลุ่มประมงเรือเล็กสวนสนเปิดเผยว่า “ทางกลุ่มสวนสนรับผิดชอบปล่อยแม่ปูสลัดไข่ในกระชังลอยในทะเล ซึ่งแต่ละกระชังปล่อยแม่ปู 40-50 ตัว ตั้งเป้าปล่อย 1,000 ตัว จะได้ลูกปูประมาณ 1,000×400,000 ตัว โครงการนี้จึงเป็นอะไรที่มากกว่าคำว่า “ที่สุด” หากทำอย่างต่อเนื่่องจะช่วยฟื้นฟูปริมาณปูได้ราวร้อยละ 60-70 ของธรรมชาติ ซึ่งจะช่วยให้ชาวประมงจับปูเลี้ยงชีพได้ประมาณ 10-15 กิโลกรัมต่อวันไปได้ตลอด เพราะมีการทดแทนปูม้าใหม่แทนปูที่ถูกจับไปอย่างต่อเนื่อง  จึงเชิญชวนทุกคน รวมถึงเพื่อนชาวประมงให้ช่วยกันทำ ช่วยกันดูแล ช่วยกันประชาสัมพันธ์ให้มาร่วมกันทำ คิดว่า เป็นการทำความดีเพื่อพ่อ” สำหรับราคาปูม้า ขึ้นอยู่กับขนาด เริ่มที่ 200-450 บาทต่อกิโลกรัม สร้างรายได้แก่ชาวประมงประมาณ 500-2,000 บาทต่อวัน โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญจากการวิจัยในครั้งนี้ คือ เสนอกิจกรรมให้ความรู้แก่ชุมชนท้องถิ่นหรือระดับชาติเพื่อสร้างความตระหนักเกี่ยวกับการทำประมงเกินขนาด การทำประมงที่ผิดกฎหมาย ขาดการรายงานและไร้การควบคุม และการปฏิบัติประมงแบบทำลายล้าง ทำงานโดยตรง (วิจัยและ/หรือมีส่วนร่วมกับอุตสาหกรรม) เพื่อรักษาและขยายระบบนิเวศที่มีอยู่และความหลากหลายทางชีวภาพของทั้งพืชและสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบนิเวศที่อยู่ภายใต้การคุกคาม

            จากผลงานวิจัยดังกล่าว ก่อให้เกิดการต่อยอดไปยัง (2) การทำวิจัยและการบริกาวิชาการทางระบบนิเวศทางทะเล โดยมีพื้นที่ให้บริการวิชาการ ณ ศูนย์การศึกษาตรัง และบุคลากรของโรงเรียนการท่องเที่ยวและบริการที่ได้การขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การท่องเที่ยวซึ่งบูรณาการกับการประมงและการรักษาระบบนิเวศทางทะเลที่ยั่งยืนกัน ได้ดำเนินการจัดทำแผนงานวิจัย ประกอบด้วย โครงการวิจัยย่อย จำนวน 3 โครงการ คือ (1) การศึกษาศักยภาพทางการท่องเที่ยว Sea Farming แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนในกลุ่มท่องเที่ยวทะเลอันดามัน (2) การพัฒนานวัตกรรมการท่องเที่ยว Sea Farming แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนในกลุ่มท่องเที่ยวทะเลอันดามัน และ (3) การประเมินความเป็นไปได้ในการเปิดการท่องเที่ยวตามนวัตกรรมการท่องเที่ยว Sea Farming แบบบูรณาการอย่างยั่งยืนในกลุ่มท่องเที่ยวทะเลอันดามัน โดยยึดคลัสเตอร์ในระดับกลุ่มจังหวัด ดังเช่น เขตพัฒนาการท่องเที่ยวอันดามัน ประกอบด้วย จังหวัดภูเก็ต พังงา กระบี่ ตรัง และ สตูล โดยได้ผลผลิตของโครงการที่สำคัญคือ เส้นทางการท่องเที่ยว Sea Farming กลุ่มท่องเที่ยวทะเลอันดามันเพื่อส่งผลไปสู่การพัฒนาเศรษฐกิจฐานราก เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงา โดยในปัจจุบัน ได้มีการดำเนินการอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน สร้างรายได้ให้กับชุมชนเพิ่มขึ้น

            นอกจากที่จังหวัดพังงา แล้วยังมีการขยายพื้นที่ต่อไปยังจังหวัดตรัง ที่ตำบลเกาะลิบง อำเภอกันตังเป็นการสร้างโมเดลรูปแบบความสำเร็จการทำ Sea Farming ที่เอื้อประโยชน์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยวของชุมชน เป็น Libong Model เพื่อให้เป็นต้นแบบให้ชุมชนอื่นต่อไป โดยงานวิจัยดังกล่าวเป็นความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยสวนดุสิต วิสาหกิจเพื่อสังคมบริษัทประชารัฐรักสามัคคีตรัง ประมงจังหวัด เจ้าท่าจังหวัดตรัง สภาองค์กรชุมชนตำบลเกาะลิบง

            จากความเชี่ยวชาญและการประสบผลสำเร็จของงานวิจัยและการบริการวิชาการดังกล่าว ทำให้มหาวิทยาลัยได้รับการคัดเลือกให้ดำเนินการคัดเลือกชุมชนต้นแบบในการท่องเที่ยวในโครงการชุมชนต้นแบบ CBT Smart Environment มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมสนับสนุนให้แหล่งท่องเที่ยวชุมชนนำเอาเทคโนโลยีดิจิทัลมาใช้ในการบริหารจัดการ ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเพื่อเพิ่มศักยภาพชุมชนท่องเที่ยวให้มีมาตรฐานการท่องเที่ยวให้เอื้อต่อการท่องเที่ยวอย่างมีความ รับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม โดยได้มีการให้ความรู้ก่อนและหลังลงพื้นที่ชุมชนท่องเที่ยวโครงการส่งเสริมชุมชนท่องเที่ยว ทั่วประเทศ เพื่อเป็นชุมชนต้นแบบ CBT Smart Environment ทั้งด้านการใช้พลังงานหมุนเวียน การจัดการน้ำที่เป็นระบบนิเวศน้ำจืด การจัดการขยะ การลดก๊าซเรือนกระจก และการลดภัยพิบัติจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้เกิดการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ของกรมการท่องเที่ยว และให้ชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบ ทั้ง 4 ภาค คือ ภาคเหนือ จำนวน 2 ชุมชน คือ วิสาหกิจชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมไทลื้อศรีดอนชัย จังหวัดเชียงราย ที่มีความโดดเด่นด้านการอนุรักษ์พลังงานโดยการใช้พลังงานสะอาดจากแสงอาทิตย์ร่วมกับการจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อการเกษตรและการท่องเที่ยว และการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลและการใช้พลังงานแสงอาทิตย์เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์จากแหล่งท่องเที่ยว และชุมชนท่องเที่ยวบ้านแม่สูนน้อย จังหวัดเชียงใหม่ ที่มีความโดดเด่น การจัดการขยะอย่างเป็นระบบ เป็นชุมชนไร้ถังขยะ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ จำนวน 1 ชุมชน คือ บ้านโคกเมือง จังหวัดบุรีรัมย์ภาคใต้ จำนวน 3 ชุมชน คือ ชุมชน ชุมชนบ้านถ้ำเสือ จังหวัดเพชรบุรี วิสาหกิจท่องเที่ยวโดยชุมชน บ้านบางโรง  จังหวัดภูเก็ต และชุมชนท่องเที่ยวบ้านท่าเขา เกาะยาวน้อย จังหวัดพังงาและภาคกลาง จำนวน 2 ชุมชน คือ ชุมชนบ้านแหลมสุพรรณบุรี จังหวัดสุพรรณบุรี และชุมชนบางกอบัว จังหวัดสมุทรปราการ ซึ่งเป็นตัวแทนของจังหวัดและชุมชน  และเกิดเป็นชุมชนท่องเที่ยวต้นแบบ ได้แก่ การรักษาระบบนิเวศเกาะยาวเพื่อให้เป็นที่อยู่อาศัยของนกเงือก ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่กำลังจะสูญพันธ์  การจัดการลุ่มน้ำท่าจีนหรือ แม่น้ำสุพรรณบุรี และคลองบางปลาม้า ของชุมชนบ้านแหลมสุพรรณบุรี เพื่อจัดการปลาม้าที่เป็นสัตว์น้ำเศรษฐกิจและกำลังจะสูญพันธ์ และผักตับเต่าน้ำ

            จะเห็นได้ว่ามหาวิทยาลัยสวนดุสิต ให้ความสำคัญกับการอนุรักษ์และการใช้ทรัพยากรทางทะเลและระบบนิเวศน้ำร่วมกับชุมชนท้องถิ่น เพื่อความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืน ของทรัพยากรอาหาร ทรัพยากรการท่องเที่ยว และสร้างสมดุลให้กับระบบนิเวศทางทะเลและน้ำ